บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สำนวนชวนคิด

ความหมายของสำนวน

                พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายของคำว่า สำนวน ไว้ดังนี้
                สำนวน (น.) ถ้อยคำที่เรียบเรียง โวหาร บางทีก็ใช้ว่า สำนวนโวหาร เช่น สารคดีเรื่องนี้สำนวนโวหารดี ความเรียงเรื่องนี้สำนวนโวหารลุ่มๆ ดอนๆ ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือ มีความหมายอื่นแอบแฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง ถ้อยคำที่แสดงออกมาเป็นข้อความพิเศษ เฉพาะภาษาหนึ่งๆ เช่น สำนวนฝรั่ง สำนวนบาลี ชั้นเชิง หรือท่วงทำนองในการแต่งหนังสือหรือพูด เช่น สำนวนเจ้าพระยา พระคลัง (หน) สำนวนยาขอบ สำนวนไม้เมืองเดิม ลักษณนาม ใช้เรียก ข้อความหรือบทประพันธ์รายหนึ่งๆ เช่น อิเหนา สำนวน บทความ ๒ สำนวน (ราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๓๘ : ๘๓๕)
                กาญจนาคพันธุ์ ได้อธิบายความหมายของ คำว่า สำนวน ไว้ในหนังสือสำนวนไทย ดังนี้
“คำพูดของมนุษย์เราไม่ว่าจะชาติใดหรือภาษาใด แยกออกได้กว้างๆ เป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งพูดตรงไปตรงมาตามภาษาธรรมดา พอพูดออกมาก็เข้าใจกันได้ทันที อีกอย่างหนึ่งพูดเป็นชั้นเชิงไม่ตรงไปตรงมา แต่ให้มีความหมายในคำพูดนั้นๆ คน ฟังอาจเข้าใจความหมายทันทีถ้าพูดคำนั้น ใช้กันแพร่หลายทั่วไป จนอยู่ตัวแล้ว แต่ถ้าไม่แพร่หลายคนฟังก็ไม่อาจเข้าใจได้ทันที ต้องคิดจึงเข้าใจ หรือบางทีคิดแล้วเข้าใจอย่างอื่นก็ได้ หรือไม่เข้าใจเอาเลยก็ได้ คำพูดเป็นชั้นเชิงนี้ เราเรียกกันว่า สำนวน คือ คำพูดเป็นสำนวนอย่างชาวบ้านเขา เรียกว่า พูดสำบัดสำนวน

(กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๒๒ : ๑)
                ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สำนวน หมายถึง ถ้อยคำที่มิได้มีความหมายตรงไปตรงมาตามตัวอักษร หรือแปลตามรากศัพท์ แต่เป็นถ้อยคำที่มีความหมาย เป็นอย่างอื่น คือ เป็นชั้นเชิงชวนให้คิด ซึ่งอาจเป็นไปในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม และอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยอย่างเด่นชัด

สุภาษิต  สำนวนไทย
                มีอยู่มากมายหลายหมวดหมู่  ตั้งแต่ หมวด  ก-ฮ  ซึ่งจะขอยกตัวอย่างสำนวนที่น่าสนใจ  ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.  กระต่ายหมายจันทร์
ความหมาย   ชายที่หลงรักหญิงที่สูงกว่าตนและไม่มีทางทีความรักจะสมหวัง
   ที่มา    กระต่ายคือชายที่มีฐานะต่ำต้อย  ส่วนดวงจันทร์คือ  หญิงงามผู้สูงศักดิ์
        กระต่ายหมายมุ่งได้   ดวงเดือน
       ตัวต่ำสกุลเหมือน      ไพร่น้อย
              อย่าคิดคู่สูงเฟือน   สุดฝั่ง แสวงนา
               อย่าใฝ่สูงจักด้อย  ดักเดี้ยเสียตน   

 2.  ไข่ในหิน

                                                       ที่มา  การกระทำของมนุษย์
                                                       ความหมาย  คนที่ถูกเลี้ยงอย่างทะนุทนอมเป็นอย่างดี  แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย เหมือนไข่ที่มีเปลือกบางแตกง่าย  เปรียบเหมือนคนหรือสิ่งของที่เปราะบางต้องดูแลเป็นพิเศษ  หินเป็นสิ่งที่แข็งแกร่ง เปรียบเหมือนการดูแลและปกป้องคุ้มครองจากพ่อแม่
       ไข่ในหินได้ยินโบราณว่า   สอนกันมาเนิ่นนานทุกยุคสมัย
ถนอมลูกฟูมฟักอย่างใส่ ใจ      ยุงไม่ให้ไต่ไร ไม่ ให้ตอมทุกเวลา
       ระวังภัยมิให้ใกล้ตัวลูก       แม่พันผูกลูกด้วยรักเสน่หา
ไม่เคยทำให้ลูกเจ็บช้ำกายา       ปรารถนาให้ลูกรักมีสุขเอย

   3. คางคกขึ้นวอ
                                                       หมายถึง   คนที่มีฐานะต่ำต้อย   พอได้ดีแล้วก็มักแสดงกิริยาอวดดีลืมตัว
                                                       ที่มา      คางคก เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มีรูปร่างคล้ายกบแต่หนังหยาบขรุขระน่าเกลียด  จึงมักเปรียบกันคนต่ำต้อย  วอ เป็นยานที่มีหลังคาเป็นรูปเรื่องใช้คนหาม  สมัยก่อนขุนนางมียศถาบรรดาศักดิ์จะเดินทางไปที่ใดมักจะนั่งวอ มีข้าทาส บริวารหาม

นางในวรรณคดีเรื่องนี้ที่เรียนสนุก

นางในวรรณคดีไทย

นางบุษบา

           นางบุษบาเป็นธิดาของท้าวดาหาและประไหมสุหรีดาหราวาตี แห่งกรุงดาหา เมื่อตอนประสูติมีเหตุอัศจรรย์คือ มีกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่วทั้งวัง ดนตรี แตรสังข์ก็ดังขึ้นเองโดยไม่มีผู้บรรเลง ประสูติได้ไม่นาน ท้าวกุเรปันก็ขอตุนาหงันให้กับอิเหนา           บุษบาเป็นหญิงที่งามล้ำเลิศกว่านางใดในแผ่นดินชวากิริยามารยาทเรียบร้อย คารมคมคาย เฉลียวฉลาดทันคนใจกว้างและมีเหตุผล จึงผูกใจให้อิเหนารักใคร่ใหลหลงนางยิ่งกว่าหญิงอื่น
นอกจากนั้นบุษบายังเป็นลูกที่ดีอยู่ในโอวาทของพระบิดา พระมารดา ยอมแต่งงานกับระตูจรกา แม้ว่าจะไม่พอใจในความขี้ริ้วขี้เหร่ของระตูจรกาก็ตาม
        นางถูกเทวดาบรรพบุรุษ ของวงค์อสัญแดหวาคือ องค์ปะตาระกาหลาบันดาลให้ลมพายุหอบไป ทำให้นางต้องพลัดพรากจากอิเหนา และพระบิดาพระมารดาเป็นเวลาหลายปี กว่าจะได้พบอิเหนาและวิวาห์กัน โดยนางได้ตำแหน่งเป็นประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย
ลักษณะนิสัย
1.บุษบาเป็นหญิงที่มาแบบฉบับของลูกที่ดีอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ แม้ว่านางจะไม่พอใจในรูปร่างของจรกา แต่นางก็ยอมที่จะไม่ทำตามใจตนเองเพื่อรักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล
2. เป็นคนไม่เจ้ายศเจ้าอย่างหรือถือว่าตนสูงศักดิ์กว่านางจินตะหรา เห็นได้จากตอนที่จินตะหราได้ให้นางสการะวาตีและนางมาหยารัศมีมาเฝ้า บุษบาก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี
3. เป็นคนไม่เหลาะแหละ รู้จักโต้เถียงแสดงความฉลาดรู้ทันอิเหนาและรักษาเกียรติของตนเองไม่ยอม หลงเชื่ออย่างง่ายๆ ในตอนที่อิเหนาพูดว่า 
 "อันนางจินตะหราวาตี     ใช่พี่จะมุ่งมาดปรารถนา 
 หากเขาก่อก่อนอ่อนมา     ใจพี่พาลาก็งวยงง……"
จากที่อิเหนาพูดนี้ก็ทำให้นางบุษบารู้ว่าอิเหนาเจรจาเข้าข้างตัวเอง นางก็โต้ตอบว่าอย่ามาแกล้งพูดเลยว่าจะไม่เลี้ยงนางจินตะหราวาตี เพราะมีลายลักษณ์อักษรและใครๆก็รู้กันทั่วว่าอิเหนาไม่ต้องการนาง นางจึงโต้ตอบ เมื่ออิเหนาแก้ตัวว่าที่ลักนางมาก็ด้วยความรักว่า
" จะให้เชื่อพจมานหวานถ้อย  จะได้ไปเป็นน้อยชาวหมันหยา
เขาจะเชิดชื่อฤาชา            ว่ารักสามีท่านกว่าความอาย
อันความอัปยศอดสู      จะติดตัวชั่วอยู่ไม่รู้หาย
ร้อนใจอะไรเล่าเจ้าเป็นชาย    ไม่เจ็บอายขายหน้าก็ว่าไป "
และตอนที่ นางบวชเป็นแอหนัง (ชี ) แลัวถูกปันหยีขโมยกริชไป นางก็คร่ำครวญต่อว่าพี่เลี้ยงด้วยความรักเกียรติสตรีว่า 
"พี่แกล้งเป็นใจด้วยปันหยี   เห็นคนอื่นดียิ่งกว่าข้า
ในถ้อยคำที่ร่ำพรรณนา       ว่าแสนเสน่หาอิเหนานัก
เป็นไฉนจึงยกน้องให้         แก่ชาวไพร่ต่ำช้าบรรดาศักดิ์
กระนี้ฤาพี่เรียกว่ารัก       พึ่งจะประจักษ์ในน้ำใจ
สู้ตายชายอื่นมิให้ต้อง      อันจะมีผัวสองอย่าสงสัย
ถึงมาตรแม้นชีวันจะบรรลัย    จะตายในความซื่อสัตยา"
4. เป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองแม้ว่านางจะตกอยู่ในสภาพที่ถูกบังคับ โดยนางไม่ยอมทำตามผู้ใหญ่ ดังตอนที่ท้าวดาหามีดำรัสให้ขึ้นมาเข้าเฝ้าอิเหนา นางรู้ว่าจะให้ไปไหว้จึงเข้าไปนอนด้วยความเคืองไม่เข้าเฝ้าตามรับสั่ง จนเดือดร้อนถึงมะเดหวีต้องมาจัดการ แต่นางก็ไม่ออกมาโดยดีๆ ต้องผลักไสกัน
5.มีความซื่อสัตย์ ได้รักษาตัวไว้รอคอยอิเหนา ดังกลอนว่า
"ถึงมาตรสู้ตายชายอื่นมิให้ต้อง   อันจะมีผัวสองอย่าสงสัย
แม้นชีวันจะบรรลัย                      จะตายในความซื่อสัตยา"
6.ไม่มีจริตแง่งอน เมื่ออิเหนาลักพานางไปไว้ในถ้ำ ก็ยินยอมแต่โดยดี
7.เมื่อเป็นชาย คือมิสาอุณากรรณก็ปฏิบัติตนกับระตูประมอตันอย่างบิดาของตน
8.มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เช่น ระตูประมอตัน
9.มีความกล้าหาญจนมีระตูมาขอเป็นเมืองขึ้นหลายเมือง
10.ไม่มีความริษยาถือโกรธผู้ใด มีน้ำใจ เมื่อมารดาให้ไหว้นางจินตะหรา บุษบาก็ยอมตาม ดังที่นางกล่าวกับอิเหนาว่า
"แม้นน้องรักทักท้วงหวงหึง    พระองค์จึงห้ำหั่นเกศา
เป็นถ้อยยำคำมั่นน้องสัญญา     เชิญเสด็จเชษฐารีบคลาไคล"
และนางยอมให้อิเหนายกจินตะหราเป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวาแต่โดยดี ด้วยเห็นว่านางจินตะหราเป็นผู้มาก่อน แม้ว่าจินตะหราจะไม่ใช่วงศ์เทวัญฯ ข้อนี้ยากที่จะหาหญิงใดเสมอเหมือน นับว่าบุษบาเป็นหญิงไทยในวรรณคดีที่สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติคนหนึ่ง
พระเพื่อนพระแพง
                ตำนานรักพระลอ ความว่า เดิมเจ้าราชวงศ์แมนสรวงกับเจ้าราชวงศ์สรองเป็นปรปักษ์ต่อกัน แต่โอรสและธิดาของ 2 เมืองนี้เกิดรักกันและยอมตายด้วยกัน ฝ่ายชายคือพระลอเป็นกษัตริย์แห่งเมืองแมนสรวง มีพระชายาชื่อนางลักษณวดี พระลอเป็นหนุ่ม รูปงามมากเป็นที่เลื่องลือไปทั่วจนทำให้พระเพื่อนพระแพงเกิดความรักและปรารถนาที่จะได้พระลอมาเป็นสวามี พี่เลี้ยงของพระเพื่อนพระแพง ชื่อนางรื่นนางโรย ได้ออกอุบายส่งคนไปขับซอยอโฉมพระเพื่อนพระแพงให้พระลอฟัง และให้ปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์ให้พระลอเกิดความรักหลงไหลคิดเสด็จไปหานาง
         ฝ่ายพระนางบุญเหลือชนนีของพระลอทราบ จึงหาหมอแก้เสน่ห์ได้ แต่ปู่เจ้า สมิงพรายได้เสกสลาเหิน(หมากเหิน) มาให้พระลอเสวยในตอนหลังอีก ถึงกับหลงไหลธิดาทั้งสองมากขึ้น จึงทูลลาชนนีและพระนางลักษณวดีไปยังเมืองสรอง พร้อมกับนายแก้วนายขวัญพี่เลี้ยง เมื่อมาถึงแม่น้ำกาหลงได้เสี่ยงทายกับแม่น้ำ แม่น้ำกลับวนและเป็นสีเลือด ซึ่งทายว่าไม่ดี แต่พระลอก็ยังติดตามไก่ที่ปู่เจ้าสมิงพรายเสกมนต์ล่อพระลอให้หลง เข้าไปในสวนหลวง แล้วแอบได้พระธิดาทั้งสองเป็นชายา นายแก้วนายขวัญก็ได้กับนางรื่นนางโรยพี่เลี้ยง
         เมื่อพระพิชัยพิษณุกร พระบิดาของพระเพื่อนพระแพงทราบเรื่องก็ทรงกริ้ว แต่พอทรงพิจารณาเห็นว่าพระลอมีศักดิ์เสมอกันก็หายกริ้ว แต่พระเจ้าย่า(ย่าเลี้ยง) ของพระเพื่อนพระแพงโกรธมาก เพราะแค้นที่พระบิดาของพระลอได้ประหารท้าวพิมพิสาครสวามีในที่รบ พระเจ้าย่าถือว่าพระลอเป็นศัตรู จึงสั่งทหารให้ไปล้อมพระลอที่ตำหนักกลางสวน และสั่งประหารด้วยธนู ทั้งพระลอ พระเพื่อน พระแพง และนายแก้ว นายขวัญ นางรื่น นางโรย ร่วมกันต่อสู่ทหารของพระเจ้าย่า อย่างทรหด จนสุดท้ายถูกธนูตายในลักษณะพิงกัน ตายด้วยความรักทั้ง 3 องค์
         ท้าวพิชัยพิษณุกร ทรงทราบว่าพระเจ้าย่าสั่งให้ทหาร ฆ่าพระลอพร้อมพระธิดาทั้งสององค์ ทรงกริ้วและสั่งประหารพระเจ้าย่า(เพราะมิใช่ชนนี)เสีย แล้วโปรดให้จัดการพระศพพระลอกับ พระธิดาร่วมกันอย่างสมเกียรติ และส่งทูตนำสาส์นไปถวายพระนางบุญเหลือ ชนนีของพระลอ ที่เมืองแมนสรวง สุดท้ายเมืองสรองกับเมืองแมนสรวงกลับมีสัมพันธไมตรีกันต่อมา
คติและแนวคิด
          ตำนานรักพระลอเป็นนิยายพื้นบ้านที่ให้รสวรรณคดีทุกรส ได้แก่ ความรัก ความโศก กล้าหาญ และเสียสละ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงผลเสียของความแค้น ความอาฆาต พยาบาท ตลอดจนอนุภาพแห่งความรัก ที่เป็นอมตะรักของพระลอ พระเพื่อนพระแพง
นางจินตะหราวาตี

ในดินแดนขวา(ประเทศอินโดนีเซีย)ที่เมืองหมันหยาเกิดข้าวยากหมากแพง มีพระขรรค์กับธงผุดขึ้นกลางเมือง ไม่มีใครถอนได้ ท้าวหมันหยาจึงประกาศว่า ผู้ใดสามารถถอนพระขรรค์กับธงได้จะแบ่งสมบัติให้ครึ่งหนึ่งกับยกธิดาทั้งสี่ให้ เทวดาสี่องค์ได้แปลงกายเป็นมนุษย์ลงมาถอนพระขรรค์กับธงได้สำเร็จ ท้าวหมันยาก็ทำตามสัญญา แต่เทวดาทั้งสี่ขอรับแต่เพียงพระธิดาแล้วมาสร้างเมืองกุเรปัน ดาหา สิงห์สาหรี่ กาหลัง ครอบครองเมืองละองค์ สืบวงศ์สืบสัญแดหวา(วงศ์เทวา)ต่อมาและนิยมแต่งงานกันในหมู่เครือญาติ เมื่อท้าวกุเรปันกับนางนิหลาอะระตาประไหมสุหรีได้พระโอรส ซึ่งก็คือ อิเหนา และทางท้าวดาหากับนางดาหราวาตีประไหมสุหรี ได้พระธิดาคือ บุษบา ทั้งสองฝ่ายจึงจัดการหมั้นหมายเด็กคู่นี้ ต่อมารดาของนางนิหลาอระตา สิ้นพระชนม์ นางนิหลาอระตากำลังครรภ์แก่จึงใช้ให้อิเหนาไปร่วมพระศพแทนที่เมืองหมันหยา อิเหนาได้พบกับจินตะหราครั้งแรก เมื่อเข้าเฝ้าท้าวหมันหยากับนางจินดาสาหรี่ประไหมสุหรี จินตะหราเป็นพระธิดาท้าวหมันยาองค์ปัจจุบันกับนางจินดาสาหรี่ประไหมสุหรี เกิดในปีเดียวกันกับอิเหนาแต่อ่อนเดือนกว่า จึงมีฐานะเป็นน้อง และด้วยความงามของนางที่ถูกบรรยายไว้ว่า
                                งามงอนอ่อนระทวยนวยแน่ง ดำแดงนวลเนื้อสองสี
                                ผ่องพักตร์ผิวพรรณดังจันทรี นางในธานีไม่เทียมทัน
                ซึ่งทำให้อิเหนาหลงใหลจนไม่อยากกลับบ้าน เพียรพยายามใกล้ชิดจินตะหรา ปาเตะขุนนางผู้ใหญ่ ที่มาหมันยาพร้อมกับอิเหนา จึงลอบมีหนังสือไปถึงท้าวกุเรปัน ท้าวกุเรปันกับนางนิหลาอะระตาเกรงว่าจะเกิดเรื่องยุ่งจึงมีสาสน์ไปถึงอิเหนา บอกว่าพระมารดาของอิเหนาใกล้คลอดและประชวรหนักให้อิเหนากลับเมือง ปรากฏว่าพระมารดาทรงคลอดแล้ว เป็นธิดาชื่อ นางวิยะดา ท้าวดาหาได้ขอหมั้นให้กับสียะตราพระโอรส ท้าวกุเรปันเห็นพระโอรสกลับมาแล้วก็นัดหมายทางเมืองดาหาจะทำการอภิเษกอิเหนากับบุษบา ทำให้อิเหนากระวนกระวายใจ จึงออกอุบายขอไปประพาสป่า อิเหนาได้ปลอมตัวเป็นโจรชื่อปันหยี เดินทางไปเมืองมัยยาอีกครั้ง ในระหว่างทางได้รบชนะระตู(เจ้าเมืองรายทาง) ระตูถวายสองพระธิดาคือ นางสการะวตี นางมาหยารัศมีและพระโอรสสังครามาระตาให้เป็นข้า พอข่าวทัพปันหยีประชิดชายแดน ท้าวหมันหยาไม่คิดจะสู้ใช้ให้ผู้ใหญ่ออกไปยอมแพ้ พร้อมกับจะยกจินตราให้ พออิเหนาเข้าเมืองหมันหยา ก็ส่งของบรรณาธิการให้เป็นเชิงสู่ขอจินตะหรา แต่ท้าวหมันหยาไม่กล้ายกธิดาให้อิเหนาอย่างออกหน้าเพราะเกรงท้าวกุเรปันจะโกรธ จึงบ่ายเบี่ยงออกให้อิเหนาเข้าหาจินตะหราเอง หากเกิดเรื่องราวจะได้อ้างว่าเด็กทำโดยพลการ ตัวท้าวหมันหยาไม่ได้รู้เห็นด้วย แรกรักนั้นหวานอิเหนาถึงกับยอมขัดคำสั่งพระบิดาไม่เข้าพิธีอภิเษกกับบุษบาทำให้ท้าวดาหาโกรธ ถ้าใครมาขอบุษบาก็จะยกให้ ต่อมาทางเมืองดาหาเกิดศึกชิงบุษบาขึ้น ท้าวกุเรปันมีราชสาสน์ถึงอิเหนาให้ยกทัพไปช่วย ถ้าไม่ทำตามจะตัดพ่อลูกกัน อิเหนาจำใจไปช่วยดาหารบ ก่อนออกเดินทางจึงลาจินตะหราอย่างอาลัยอาวรณ์ นี่แหละที่ทำให้จินตะหราต้องผิดหวังอย่างรุนแรงเพราะอิเหนากลับไปไม่กลับมาหมันหยาอีก ทั้งยังไปหลงรักบุษบาเข้าลืมเลือนจินตะหราวาตีแห่งเมืองหมันหยา กว่านางจะได้พบหน้าอิเหนาอีกครั้ง เมื่อท้าวกุเรปันมีสาสน์มากเรียกตัวนางไปเข้าพิธีอภิเษกพร้อมกับบุษบาและอิเหนา จินตะหราน้อยใจมากจนไม่อยากไปเข้าพิธี แต่เสียอ้อนวอนของท้าวหมันหยาไม่ได้ จึงพาสการะวาตีและนางมยารัศมีไปด้วยกัน ในพิธีอภิเษก จินตะหราได้ตำแหน่งประไหมสุหรีฝ่ายขวา ส่วนบุษบาตำแหน่งประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย ด้วยความเห็นชอบของท้าวดาหา(อาจจะเป็นเพราะท้าวดาหาต้องการแสดงพระทัยกว้าง จึงเสนอให้ธิดาของตนอยู่ในตำแหน่งรอง) แต่จินตะหราไม่เป็นสุขกับตำแหน่งที่ได้มานัก เพราะรู้ว่าอิเหนาไม่ได้รักใคร่ใยดีนางเหมือนเก่าก่อน ประกอบกับนางเป็นคนถือทิฐิจึงไม่ยินยอมคืนดีด้วย เมื่ออิเหนามาหาทั้งยังทวนสัญญาทำให้อิเหนาเสื่อมรักนางไปมากแล้วยิ่งเบื่อจินตะหรามากขึ้น ไม่คิดสนใจจินตะหราอีกหากแต่ขัดคำสั่งของประไหมสุหรีดาหาไม่ได้ จึงจำใจไปง้อนาง รักอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งจีรังยั่งยืน โดยเฉพาะ ความรักที่ถือเอาความงามเป็นบรรทัดฐานแบบอิเหนา เมื่อเรื่องนี้รู้ถึงท้าวหมันหยากับประไหมสุหรีหมันหยา จึงเรียกจินตะหราไปตักเตือน ซึ่งทำให้จินตะหรายอมรับสภาพความเป็นจริงว่า ตนอยู่ในฐานะเสียเปรียบบุษบามากแล้วถ้ายังขืนกรานทำตัวอย่างที่ผ่านมาจะยิ่งมีสภาพแย่กว่าเก่า จึงยอมคืนดีกับอิเหนา และอ่อนข้อเข้าหาบุษบา  ชีวิตนางในวรรณคดีของจินตะหราวาตีนี้ได้รับการดูถูกไม่ทางตนก็ทางอ้อมจาก บุษบา วิยะดา สการะวาตีและนางมาหยารัศมี
นางวันทอง


                นางวันทองเป็นบุตรสาวของพันศรโยธา และนางศรีประจัน ครอบครัวของนางวันทองเป็นตระกูลพ่อค้าที่มีฐานะดีพอสมควร นางจึงได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี
                นางเป็นคนสวยรูปร่างอรชนอ้อนแอ้น กิริยามารยาทแช่มช้อย ซึ่งความสวยของนางนั้นปรากฏให้เห็นชัดตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และยังมีผมสวย ดังที่กวีพรรณนาไว้ว่า
                                "ทรวดทรงส่งศรีไม่มีแบน อรชรอ้อนแอ้นประหนึ่งเหลา
                                ผมสลวยสวยขำงามเงา ให้ชื่อเจ้าว่าพิมพิลาไลย"
                นางไม่ค่อยฉลาดเท่าใดนัก ทำอะไรก็ทำตามประสาหญิงชาวบ้าน เมื่อโตเป็นสาวก็เริ่มคิดเรื่องคู่ครอง จึงทำให้ดูเหมือนว่านางวันทองไม่รักนวลสงวนตัว
                นางวันทองก็ยังมีภาพลักษณ์ด้านดีที่เห็นได้ชัด คือ ความละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการรับรู้ถึงความดีของผู้อื่นที่ปฏิบัติต่อนาง ดังจะเห็นได้จากถึงแม้นางจะไม่ได้รักขุนช้างแต่ด้วยความดีของขุนช้างและความผูกพันที่อยู่กันมา 15 ปี ทำให้นางเป็นห่วงเป็นใยความทุกข์สุข และความรู้สึกของขุนช้างไม่น้อย หรือ อารมณ์ที่ละเอียดอ่อนในการเป็นแม่ศรีเรือนที่ดี เป็นคนกล้าที่จะยอมรับชะตากรรมของตัวเอง มีน้ำใจเมตตา และให้อภัยโดยไม่เคียดแค้น
                ในที่สุดพระพันวษาต้องให้นางเลือกว่าจะอยู่กับใครระหว่างขุนแผนหรือขุนช้าง แต่นางวันทองก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ เพราะแม้ขุนแผนจะเจ้าชู้จนมีเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้งหึงหวงกันอยู่เสมอ แต่ก็เป็นรักแรกและยังมีลูกด้วยกันคือพลายงามอีกด้วย
ขุนช้างแม้จะขี้เหร่ แต่ก็มีรักจริงและรักเดียว แถมดูแลนางอย่างดีเพราะมีเงินทองร่ำรวย การที่นางไม่สามารถตัดสินใจได้เด็ดขาดนี่เอง จึงทำให้ถูกพระพันวษาสั่งประหารชีวิตด้วยความกริ้ว และเป็นเหตุให้ถูกประณามว่า เป็นวันทองสองใจบ้าง นางวันทองสองผัวบ้าง ทั้งๆที่ชีวิตนางวันทองน่าเห็นใจไม่น้อย เพราะถูกสองหนุ่มยื้อกันไปยื้อกันมา แม้ไม่เต็มใจ แต่ก็อยู่ในภาวะจำยอมเพราะช่วยตัวเองไม่ได้

ชื่อนี้มีที่มา

รางวัลซีไรต์ในภาษาไทย

            รางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write) รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน

            รางวัล ซีไรต์  (S.E.A. Write ย่อมาจาก Southeast Asian Writers Award)  มีชื่อเต็มว่า รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน เป็นรางวัลประจำปีที่มอบให้แก่นักประพันธ์ใน 10 ประเทศอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยในช่วงต้นๆ ของการมอบรางวัลนั้น มีเพียง 5 ประเทศคือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์
รายชื่อหนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์
ปี พ.ศ.
ชื่อหนังสือ
ชื่อผู้แต่ง
คำประพันธ์
พ.ศ. ๒๕๒๒
ลูกอีสาน
คำพูน บุญทวี 
กวีนิพนธ์
พ.ศ. ๒๕๒๓
เพียงความเคลื่อนไหว
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
กวีนิพนธ์
พ.ศ. ๒๕๒๔
ขุนทอง เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง
อัศศิริ ธรรมโชติ
เรื่องสั้น
พ.ศ. ๒๕๒๕
คำพิพากษา
ชาติ กอบจิตติ
นิยาย
พ.ศ. ๒๕๒๖
นาฏกรรมบนลานกว้าง
คมทวน คันธนู (ประสาทพร ภูสศิลป์ธร)
กวีนิพนธ์
พ.ศ. ๒๕๒๗
ซอยเดียวกัน
วาณิช จรุงกิจอนันต์
เรื่องสั้น
พ.ศ. ๒๕๒๘
ปูนปิดทอง
กฤษณา อโศกสิน (สุกัญญา ชลศึกษ์)
นิยาย
พ.ศ. ๒๕๒๙
ปณิธานกวี
อังคาร กัลยาณพงศ์
กวีนิพนธ์
พ.ศ. ๒๕๓๐
ก่อกองทราย
ไพฑูรย์ ธัญญา (ธัญญา สังขพันธานนท์)
เรื่องสั้น
พ.ศ. ๒๕๓๑
ตลิ่งสูง ซุงหนัก
นิคม รายยวา 
นิยาย
พ.ศ. ๒๕๓๒
ใบไม้ที่หายไป: กวีนิพนธ์แห่งชีวิต
จิระนันท์ พิตรปรีชา
กวีนิพนธ์
พ.ศ. ๒๕๓๓
อัญมณีแห่งชีวิต
อัญชัน (อัญชลี วิวัธนชัย)
เรื่องสั้น
พ.ศ. ๒๕๓๔
เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน
มาลา คำจันทร์ (เจริญ มาลาโรจน์)
นิยาย
พ.ศ. ๒๕๓๕
มือนั้นสีขาว
ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ (กิตติศักดิ์ มีสมสืบ)
กวีนิพนธ์
พ.ศ. ๒๕๓๖
ครอบครัวกลางถนน
ศิลา โคมฉาย (วินัย บุญช่วย)
เรื่องสั้น
พ.ศ. ๒๕๓๗
เวลา
ชาติ กอบจิตติ
นิยาย
พ.ศ. ๒๕๓๘
ม้าก้านกล้วย
ไพวรินทร์ ขาวงาม
กวีนิพนธ์
พ.ศ. ๒๕๓๙
แผ่นดินอื่น
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ 
เรื่องสั้น
พ.ศ. ๒๕๔๐
ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน
วินทร์ เลียววาริณ
นิยาย
พ.ศ. ๒๕๔๑
ในเวลา
แรคำ ประโดยคำ (สุพรรณ ทองคล้อย)
กวีนิพนธ์
พ.ศ. ๒๕๔๒
สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน
วินทร์ เลียววาริณ
เรื่องสั้น
พ.ศ. ๒๕๔๓
อมตะ
วิมล ไทรนิ่มนวล
นิยาย
พ.ศ. ๒๕๔๔
บ้านเก่า
โชคชัย บัณฑิต (โชคชัย บัณฑิตศิละศักดิ์)
กวีนิพนธ์
พ.ศ. ๒๕๔๕
ความน่าจะเป็น
ปราบดา หยุ่น
เรื่องสั้น
พ.ศ. ๒๕๔๖
ช่างสำราญ
เดือนวาด พิมวนา 
นิยาย
พ.ศ. ๒๕๔๗
แม่น้ำรำลึก
เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์
กวีนิพนธ์
พ.ศ. ๒๕๔๘
เจ้าหงิญ
บินหลา สันกาลาคีรี (วุฒิชาติ ชุ่มสนิท)
เรื่องสั้น
พ.ศ. ๒๕๔๙
ความสุขของกะทิ
งามพรรณ เวชชาชีวะ 
นวนิยาย
พ.ศ. ๒๕๕๐
โลกในดวงตาข้าพเจ้า
มนตรี ศรียงค์
บทกวี
พ.ศ. ๒๕๕๑
เราหลงลืมอะไรบางอย่าง
วัชระ สัจจะสารสิน(วัชระ เพชรพรหมศร)
รวมเรื่องสั้น
พ.ศ. ๒๕๕๒
ลับแล แก่งคอย
อุทิศ เหมะมูล
นวนิยาย

วัตถุประสงค์มีดังนี้ คือ
  • เพื่อให้เป็นที่รู้จักถึงความสามารถด้านสร้างสรรค์ของนักเขียนในกลุ่มประเทศอาเซียน
  • เพื่อให้ทราบถึงโภคทรัพย์ทางวรรณกรรม ทรัพย์สินทางปัญญาวรรณศิลป์แห่งกลุ่มประเทศอาเซียน
  • เพื่อรับทราบ รับรอง ส่งเสริมและจรรโลงเกียรติ อัจฉริยะ ทางวรรณกรรมของนักเขียนผู้สร้างสรรค์
  • เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและสัมพันธภาพอันดีในหมู่นักเขียนและประชาชนทั่วไปในกลุ่มประเทศอาเซียน
กฎเกณฑ์การเลือกสรรงานวรรณกรรม มีดังนี้ คือ
  • เป็นงานเขียนภาษาไทย
  • เป็นงานริเริ่มของผู้เขียนเอง มิใช่งานแปลหรือแปลงจากของผู้อื่น
  • ผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ขณะส่งงานเข้าประกวด
  • เป็นงานตีพิมพ์เผยแพร่ (มี ISBN) เป็นเล่มครั้งแรกย้อนหลังไม่เกิน 3 ปี ภายในวันสิ้นกำหนดส่งงาน
  • งานวรรณกรรมที่เคยได้รับรางวัลอื่นใดในประเทศไทยมาแล้วจะส่งเข้าพิจารณาอีกก็ได้
คณะกรรมการจัดงาน
               คณะกรรมการดำเนินงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 มีพระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าเปรม บุรฉัตร เป็นประธาน ภายหลังพระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ลง ในปี พ.ศ. 2524 และหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ได้ดำรงตำแหน่งประธานสืบแทนจนถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2526 และผู้ที่สืบตำแหน่งต่อมาคือ พระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าวิมลฉัตร จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2534 ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ดำรงตำแหน่งประธานจนถึงปี พ.ศ. 2540 ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ม.ล. พีระพงศ์ เกษมศรีดำรงตำแหน่งประธานสืบแทน และในปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯ นอกจากนี้คณะกรรมการประกอบด้วย สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และผู้แทนจากบริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทย เบพเวอเรจ จำกัด มูลนิธิเร็กซ์ มอร์แกน บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด มูลนิธิ จุ มภฎ-พันธุ์ทิพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บริติช แก๊ส ไทยแลนด์ พีทีอี ลิมิเต็ด บริษัท เวิลด์ แทรเวล เซอร์วิส จำกัด และโรงแรมโอเรียนเต็ล

คณะกรรมการพิจารณา (คัดเลือก และ ตัดสิน)
             นักเขียนและคณะบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวรรณกรรมของแต่ละประเทศ  จะ เป็นผู้เลือกสรรตัดสินว่าผู้ใดควรได้รับรางวัล  ดังเช่นในประเทศไทย คณะกรรมการพิจารณาวรรณกรรมฯ มาจากการเสนอชื่อของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย แบ่งเป็น 2 คณะ คือ
            คณะกรรมการคัดเลือก  (SELECTION COMMITTEE)  มีจำนวน 7 ท่าน ประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ 3 ท่าน ผู้ แทนจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 3 ท่าน และผู้ทรงคุณวุฒิทางวรรณกรรม 1 ท่าน ให้คณะกรรมการคัดเลือกกันเองเป็นประธานหนึ่งคน  คณะกรรมการคัดเลือกมีหน้าที่รับงานวรรณกรรมที่มีผู้เสนอเข้าพิจารณา และพิจารณาคัดเลือกให้เหลืออย่างน้อย 7 เล่ม แต่ไม่เกิน 10 เล่ม เสนอต่อคณะกรรมการตัดสิน
            คณะกรรมการตัดสิน  (BOARD OF JURIES)  มีจำนวน 7 ท่าน ประกอบด้วย นายกสมาคมภาษาและหนังสือหรือผู้แทน นายกสมาคมนักเขียนฯ หรือผู้แทน นักเขียนหรือกวี ผู้ทรงเกียรติคุณ 1 ท่าน ผู้ทรงคุณวุฒิทางวรรณกรรม 3 ท่าน ประธาน คณะกรรมการคัดเลือก (โดยตำแหน่ง) กรรมการตัดสินจะเป็นบุคคลเดียวกันกับกรรมการคัดเลือกไม่ได้ ยกเว้น ประธานคณะกรรมการคัดเลือก และไม่เป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากงานที่ได้รับการคัดเลือก คณะกรรมการตัดสินมีหน้าที่พิจารณางานวรรณกรรมที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอ และตัดสิน 1 เล่ม ให้ได้รับรางวัลซีไรต์ 
กำหนดเวลาส่งงานวรรณกรรมเข้าพิจารณาให้กำหนดวันสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม (สำหรับงานวรรณกรรมประเภทนวนิยาย)  และวันที่ 30 เมษายน (สำหรับงานวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์) ของทุกปี และการตัดสินให้รางวัลจะประกาศผลภายในเดือนสิงหาคมของทุกปี ผู้ส่งงานวรรณกรรมเข้ารับการพิจารณารับรางวัล ได้แก่ องค์กร และสถาบันที่ทำงานเกี่ยวกับวรรณกรรม สำนักพิมพ์ นักวิชาการวรรณกรรม นักเขียน นักวิจารณ์ และนักอ่านทั่วไป
รางวัลประกอบด้วย
  • แผ่นโลหะจารึกเป็นอนุสรณ์เกียรติประวัติ
  • ทัศนาจร
    • นักเขียนไทยที่ได้ รับรางวัลซีไรต์มีสิทธิเลือกไปเที่ยวประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศอา เซียน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยผู้จัดจะเป็นผู้ออกค่าเดินทาง ค่าที่พัก และอาหาร ทั้งหมด สามารถใช้สิทธิภายในระยะเวลา 1 ปี
    • นักเขียนกลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ มารับรางวัลพร้อมกับทัศนาจรที่ประเทศไทยกับนักเขียนซีไรต์ไทย เป็นเวลา 1 สัปดาห์
  • เงินสด