บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นางในวรรณคดีเรื่องนี้ที่เรียนสนุก

นางในวรรณคดีไทย

นางบุษบา

           นางบุษบาเป็นธิดาของท้าวดาหาและประไหมสุหรีดาหราวาตี แห่งกรุงดาหา เมื่อตอนประสูติมีเหตุอัศจรรย์คือ มีกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่วทั้งวัง ดนตรี แตรสังข์ก็ดังขึ้นเองโดยไม่มีผู้บรรเลง ประสูติได้ไม่นาน ท้าวกุเรปันก็ขอตุนาหงันให้กับอิเหนา           บุษบาเป็นหญิงที่งามล้ำเลิศกว่านางใดในแผ่นดินชวากิริยามารยาทเรียบร้อย คารมคมคาย เฉลียวฉลาดทันคนใจกว้างและมีเหตุผล จึงผูกใจให้อิเหนารักใคร่ใหลหลงนางยิ่งกว่าหญิงอื่น
นอกจากนั้นบุษบายังเป็นลูกที่ดีอยู่ในโอวาทของพระบิดา พระมารดา ยอมแต่งงานกับระตูจรกา แม้ว่าจะไม่พอใจในความขี้ริ้วขี้เหร่ของระตูจรกาก็ตาม
        นางถูกเทวดาบรรพบุรุษ ของวงค์อสัญแดหวาคือ องค์ปะตาระกาหลาบันดาลให้ลมพายุหอบไป ทำให้นางต้องพลัดพรากจากอิเหนา และพระบิดาพระมารดาเป็นเวลาหลายปี กว่าจะได้พบอิเหนาและวิวาห์กัน โดยนางได้ตำแหน่งเป็นประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย
ลักษณะนิสัย
1.บุษบาเป็นหญิงที่มาแบบฉบับของลูกที่ดีอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ แม้ว่านางจะไม่พอใจในรูปร่างของจรกา แต่นางก็ยอมที่จะไม่ทำตามใจตนเองเพื่อรักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล
2. เป็นคนไม่เจ้ายศเจ้าอย่างหรือถือว่าตนสูงศักดิ์กว่านางจินตะหรา เห็นได้จากตอนที่จินตะหราได้ให้นางสการะวาตีและนางมาหยารัศมีมาเฝ้า บุษบาก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี
3. เป็นคนไม่เหลาะแหละ รู้จักโต้เถียงแสดงความฉลาดรู้ทันอิเหนาและรักษาเกียรติของตนเองไม่ยอม หลงเชื่ออย่างง่ายๆ ในตอนที่อิเหนาพูดว่า 
 "อันนางจินตะหราวาตี     ใช่พี่จะมุ่งมาดปรารถนา 
 หากเขาก่อก่อนอ่อนมา     ใจพี่พาลาก็งวยงง……"
จากที่อิเหนาพูดนี้ก็ทำให้นางบุษบารู้ว่าอิเหนาเจรจาเข้าข้างตัวเอง นางก็โต้ตอบว่าอย่ามาแกล้งพูดเลยว่าจะไม่เลี้ยงนางจินตะหราวาตี เพราะมีลายลักษณ์อักษรและใครๆก็รู้กันทั่วว่าอิเหนาไม่ต้องการนาง นางจึงโต้ตอบ เมื่ออิเหนาแก้ตัวว่าที่ลักนางมาก็ด้วยความรักว่า
" จะให้เชื่อพจมานหวานถ้อย  จะได้ไปเป็นน้อยชาวหมันหยา
เขาจะเชิดชื่อฤาชา            ว่ารักสามีท่านกว่าความอาย
อันความอัปยศอดสู      จะติดตัวชั่วอยู่ไม่รู้หาย
ร้อนใจอะไรเล่าเจ้าเป็นชาย    ไม่เจ็บอายขายหน้าก็ว่าไป "
และตอนที่ นางบวชเป็นแอหนัง (ชี ) แลัวถูกปันหยีขโมยกริชไป นางก็คร่ำครวญต่อว่าพี่เลี้ยงด้วยความรักเกียรติสตรีว่า 
"พี่แกล้งเป็นใจด้วยปันหยี   เห็นคนอื่นดียิ่งกว่าข้า
ในถ้อยคำที่ร่ำพรรณนา       ว่าแสนเสน่หาอิเหนานัก
เป็นไฉนจึงยกน้องให้         แก่ชาวไพร่ต่ำช้าบรรดาศักดิ์
กระนี้ฤาพี่เรียกว่ารัก       พึ่งจะประจักษ์ในน้ำใจ
สู้ตายชายอื่นมิให้ต้อง      อันจะมีผัวสองอย่าสงสัย
ถึงมาตรแม้นชีวันจะบรรลัย    จะตายในความซื่อสัตยา"
4. เป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองแม้ว่านางจะตกอยู่ในสภาพที่ถูกบังคับ โดยนางไม่ยอมทำตามผู้ใหญ่ ดังตอนที่ท้าวดาหามีดำรัสให้ขึ้นมาเข้าเฝ้าอิเหนา นางรู้ว่าจะให้ไปไหว้จึงเข้าไปนอนด้วยความเคืองไม่เข้าเฝ้าตามรับสั่ง จนเดือดร้อนถึงมะเดหวีต้องมาจัดการ แต่นางก็ไม่ออกมาโดยดีๆ ต้องผลักไสกัน
5.มีความซื่อสัตย์ ได้รักษาตัวไว้รอคอยอิเหนา ดังกลอนว่า
"ถึงมาตรสู้ตายชายอื่นมิให้ต้อง   อันจะมีผัวสองอย่าสงสัย
แม้นชีวันจะบรรลัย                      จะตายในความซื่อสัตยา"
6.ไม่มีจริตแง่งอน เมื่ออิเหนาลักพานางไปไว้ในถ้ำ ก็ยินยอมแต่โดยดี
7.เมื่อเป็นชาย คือมิสาอุณากรรณก็ปฏิบัติตนกับระตูประมอตันอย่างบิดาของตน
8.มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เช่น ระตูประมอตัน
9.มีความกล้าหาญจนมีระตูมาขอเป็นเมืองขึ้นหลายเมือง
10.ไม่มีความริษยาถือโกรธผู้ใด มีน้ำใจ เมื่อมารดาให้ไหว้นางจินตะหรา บุษบาก็ยอมตาม ดังที่นางกล่าวกับอิเหนาว่า
"แม้นน้องรักทักท้วงหวงหึง    พระองค์จึงห้ำหั่นเกศา
เป็นถ้อยยำคำมั่นน้องสัญญา     เชิญเสด็จเชษฐารีบคลาไคล"
และนางยอมให้อิเหนายกจินตะหราเป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวาแต่โดยดี ด้วยเห็นว่านางจินตะหราเป็นผู้มาก่อน แม้ว่าจินตะหราจะไม่ใช่วงศ์เทวัญฯ ข้อนี้ยากที่จะหาหญิงใดเสมอเหมือน นับว่าบุษบาเป็นหญิงไทยในวรรณคดีที่สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติคนหนึ่ง
พระเพื่อนพระแพง
                ตำนานรักพระลอ ความว่า เดิมเจ้าราชวงศ์แมนสรวงกับเจ้าราชวงศ์สรองเป็นปรปักษ์ต่อกัน แต่โอรสและธิดาของ 2 เมืองนี้เกิดรักกันและยอมตายด้วยกัน ฝ่ายชายคือพระลอเป็นกษัตริย์แห่งเมืองแมนสรวง มีพระชายาชื่อนางลักษณวดี พระลอเป็นหนุ่ม รูปงามมากเป็นที่เลื่องลือไปทั่วจนทำให้พระเพื่อนพระแพงเกิดความรักและปรารถนาที่จะได้พระลอมาเป็นสวามี พี่เลี้ยงของพระเพื่อนพระแพง ชื่อนางรื่นนางโรย ได้ออกอุบายส่งคนไปขับซอยอโฉมพระเพื่อนพระแพงให้พระลอฟัง และให้ปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์ให้พระลอเกิดความรักหลงไหลคิดเสด็จไปหานาง
         ฝ่ายพระนางบุญเหลือชนนีของพระลอทราบ จึงหาหมอแก้เสน่ห์ได้ แต่ปู่เจ้า สมิงพรายได้เสกสลาเหิน(หมากเหิน) มาให้พระลอเสวยในตอนหลังอีก ถึงกับหลงไหลธิดาทั้งสองมากขึ้น จึงทูลลาชนนีและพระนางลักษณวดีไปยังเมืองสรอง พร้อมกับนายแก้วนายขวัญพี่เลี้ยง เมื่อมาถึงแม่น้ำกาหลงได้เสี่ยงทายกับแม่น้ำ แม่น้ำกลับวนและเป็นสีเลือด ซึ่งทายว่าไม่ดี แต่พระลอก็ยังติดตามไก่ที่ปู่เจ้าสมิงพรายเสกมนต์ล่อพระลอให้หลง เข้าไปในสวนหลวง แล้วแอบได้พระธิดาทั้งสองเป็นชายา นายแก้วนายขวัญก็ได้กับนางรื่นนางโรยพี่เลี้ยง
         เมื่อพระพิชัยพิษณุกร พระบิดาของพระเพื่อนพระแพงทราบเรื่องก็ทรงกริ้ว แต่พอทรงพิจารณาเห็นว่าพระลอมีศักดิ์เสมอกันก็หายกริ้ว แต่พระเจ้าย่า(ย่าเลี้ยง) ของพระเพื่อนพระแพงโกรธมาก เพราะแค้นที่พระบิดาของพระลอได้ประหารท้าวพิมพิสาครสวามีในที่รบ พระเจ้าย่าถือว่าพระลอเป็นศัตรู จึงสั่งทหารให้ไปล้อมพระลอที่ตำหนักกลางสวน และสั่งประหารด้วยธนู ทั้งพระลอ พระเพื่อน พระแพง และนายแก้ว นายขวัญ นางรื่น นางโรย ร่วมกันต่อสู่ทหารของพระเจ้าย่า อย่างทรหด จนสุดท้ายถูกธนูตายในลักษณะพิงกัน ตายด้วยความรักทั้ง 3 องค์
         ท้าวพิชัยพิษณุกร ทรงทราบว่าพระเจ้าย่าสั่งให้ทหาร ฆ่าพระลอพร้อมพระธิดาทั้งสององค์ ทรงกริ้วและสั่งประหารพระเจ้าย่า(เพราะมิใช่ชนนี)เสีย แล้วโปรดให้จัดการพระศพพระลอกับ พระธิดาร่วมกันอย่างสมเกียรติ และส่งทูตนำสาส์นไปถวายพระนางบุญเหลือ ชนนีของพระลอ ที่เมืองแมนสรวง สุดท้ายเมืองสรองกับเมืองแมนสรวงกลับมีสัมพันธไมตรีกันต่อมา
คติและแนวคิด
          ตำนานรักพระลอเป็นนิยายพื้นบ้านที่ให้รสวรรณคดีทุกรส ได้แก่ ความรัก ความโศก กล้าหาญ และเสียสละ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงผลเสียของความแค้น ความอาฆาต พยาบาท ตลอดจนอนุภาพแห่งความรัก ที่เป็นอมตะรักของพระลอ พระเพื่อนพระแพง
นางจินตะหราวาตี

ในดินแดนขวา(ประเทศอินโดนีเซีย)ที่เมืองหมันหยาเกิดข้าวยากหมากแพง มีพระขรรค์กับธงผุดขึ้นกลางเมือง ไม่มีใครถอนได้ ท้าวหมันหยาจึงประกาศว่า ผู้ใดสามารถถอนพระขรรค์กับธงได้จะแบ่งสมบัติให้ครึ่งหนึ่งกับยกธิดาทั้งสี่ให้ เทวดาสี่องค์ได้แปลงกายเป็นมนุษย์ลงมาถอนพระขรรค์กับธงได้สำเร็จ ท้าวหมันยาก็ทำตามสัญญา แต่เทวดาทั้งสี่ขอรับแต่เพียงพระธิดาแล้วมาสร้างเมืองกุเรปัน ดาหา สิงห์สาหรี่ กาหลัง ครอบครองเมืองละองค์ สืบวงศ์สืบสัญแดหวา(วงศ์เทวา)ต่อมาและนิยมแต่งงานกันในหมู่เครือญาติ เมื่อท้าวกุเรปันกับนางนิหลาอะระตาประไหมสุหรีได้พระโอรส ซึ่งก็คือ อิเหนา และทางท้าวดาหากับนางดาหราวาตีประไหมสุหรี ได้พระธิดาคือ บุษบา ทั้งสองฝ่ายจึงจัดการหมั้นหมายเด็กคู่นี้ ต่อมารดาของนางนิหลาอระตา สิ้นพระชนม์ นางนิหลาอระตากำลังครรภ์แก่จึงใช้ให้อิเหนาไปร่วมพระศพแทนที่เมืองหมันหยา อิเหนาได้พบกับจินตะหราครั้งแรก เมื่อเข้าเฝ้าท้าวหมันหยากับนางจินดาสาหรี่ประไหมสุหรี จินตะหราเป็นพระธิดาท้าวหมันยาองค์ปัจจุบันกับนางจินดาสาหรี่ประไหมสุหรี เกิดในปีเดียวกันกับอิเหนาแต่อ่อนเดือนกว่า จึงมีฐานะเป็นน้อง และด้วยความงามของนางที่ถูกบรรยายไว้ว่า
                                งามงอนอ่อนระทวยนวยแน่ง ดำแดงนวลเนื้อสองสี
                                ผ่องพักตร์ผิวพรรณดังจันทรี นางในธานีไม่เทียมทัน
                ซึ่งทำให้อิเหนาหลงใหลจนไม่อยากกลับบ้าน เพียรพยายามใกล้ชิดจินตะหรา ปาเตะขุนนางผู้ใหญ่ ที่มาหมันยาพร้อมกับอิเหนา จึงลอบมีหนังสือไปถึงท้าวกุเรปัน ท้าวกุเรปันกับนางนิหลาอะระตาเกรงว่าจะเกิดเรื่องยุ่งจึงมีสาสน์ไปถึงอิเหนา บอกว่าพระมารดาของอิเหนาใกล้คลอดและประชวรหนักให้อิเหนากลับเมือง ปรากฏว่าพระมารดาทรงคลอดแล้ว เป็นธิดาชื่อ นางวิยะดา ท้าวดาหาได้ขอหมั้นให้กับสียะตราพระโอรส ท้าวกุเรปันเห็นพระโอรสกลับมาแล้วก็นัดหมายทางเมืองดาหาจะทำการอภิเษกอิเหนากับบุษบา ทำให้อิเหนากระวนกระวายใจ จึงออกอุบายขอไปประพาสป่า อิเหนาได้ปลอมตัวเป็นโจรชื่อปันหยี เดินทางไปเมืองมัยยาอีกครั้ง ในระหว่างทางได้รบชนะระตู(เจ้าเมืองรายทาง) ระตูถวายสองพระธิดาคือ นางสการะวตี นางมาหยารัศมีและพระโอรสสังครามาระตาให้เป็นข้า พอข่าวทัพปันหยีประชิดชายแดน ท้าวหมันหยาไม่คิดจะสู้ใช้ให้ผู้ใหญ่ออกไปยอมแพ้ พร้อมกับจะยกจินตราให้ พออิเหนาเข้าเมืองหมันหยา ก็ส่งของบรรณาธิการให้เป็นเชิงสู่ขอจินตะหรา แต่ท้าวหมันหยาไม่กล้ายกธิดาให้อิเหนาอย่างออกหน้าเพราะเกรงท้าวกุเรปันจะโกรธ จึงบ่ายเบี่ยงออกให้อิเหนาเข้าหาจินตะหราเอง หากเกิดเรื่องราวจะได้อ้างว่าเด็กทำโดยพลการ ตัวท้าวหมันหยาไม่ได้รู้เห็นด้วย แรกรักนั้นหวานอิเหนาถึงกับยอมขัดคำสั่งพระบิดาไม่เข้าพิธีอภิเษกกับบุษบาทำให้ท้าวดาหาโกรธ ถ้าใครมาขอบุษบาก็จะยกให้ ต่อมาทางเมืองดาหาเกิดศึกชิงบุษบาขึ้น ท้าวกุเรปันมีราชสาสน์ถึงอิเหนาให้ยกทัพไปช่วย ถ้าไม่ทำตามจะตัดพ่อลูกกัน อิเหนาจำใจไปช่วยดาหารบ ก่อนออกเดินทางจึงลาจินตะหราอย่างอาลัยอาวรณ์ นี่แหละที่ทำให้จินตะหราต้องผิดหวังอย่างรุนแรงเพราะอิเหนากลับไปไม่กลับมาหมันหยาอีก ทั้งยังไปหลงรักบุษบาเข้าลืมเลือนจินตะหราวาตีแห่งเมืองหมันหยา กว่านางจะได้พบหน้าอิเหนาอีกครั้ง เมื่อท้าวกุเรปันมีสาสน์มากเรียกตัวนางไปเข้าพิธีอภิเษกพร้อมกับบุษบาและอิเหนา จินตะหราน้อยใจมากจนไม่อยากไปเข้าพิธี แต่เสียอ้อนวอนของท้าวหมันหยาไม่ได้ จึงพาสการะวาตีและนางมยารัศมีไปด้วยกัน ในพิธีอภิเษก จินตะหราได้ตำแหน่งประไหมสุหรีฝ่ายขวา ส่วนบุษบาตำแหน่งประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย ด้วยความเห็นชอบของท้าวดาหา(อาจจะเป็นเพราะท้าวดาหาต้องการแสดงพระทัยกว้าง จึงเสนอให้ธิดาของตนอยู่ในตำแหน่งรอง) แต่จินตะหราไม่เป็นสุขกับตำแหน่งที่ได้มานัก เพราะรู้ว่าอิเหนาไม่ได้รักใคร่ใยดีนางเหมือนเก่าก่อน ประกอบกับนางเป็นคนถือทิฐิจึงไม่ยินยอมคืนดีด้วย เมื่ออิเหนามาหาทั้งยังทวนสัญญาทำให้อิเหนาเสื่อมรักนางไปมากแล้วยิ่งเบื่อจินตะหรามากขึ้น ไม่คิดสนใจจินตะหราอีกหากแต่ขัดคำสั่งของประไหมสุหรีดาหาไม่ได้ จึงจำใจไปง้อนาง รักอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งจีรังยั่งยืน โดยเฉพาะ ความรักที่ถือเอาความงามเป็นบรรทัดฐานแบบอิเหนา เมื่อเรื่องนี้รู้ถึงท้าวหมันหยากับประไหมสุหรีหมันหยา จึงเรียกจินตะหราไปตักเตือน ซึ่งทำให้จินตะหรายอมรับสภาพความเป็นจริงว่า ตนอยู่ในฐานะเสียเปรียบบุษบามากแล้วถ้ายังขืนกรานทำตัวอย่างที่ผ่านมาจะยิ่งมีสภาพแย่กว่าเก่า จึงยอมคืนดีกับอิเหนา และอ่อนข้อเข้าหาบุษบา  ชีวิตนางในวรรณคดีของจินตะหราวาตีนี้ได้รับการดูถูกไม่ทางตนก็ทางอ้อมจาก บุษบา วิยะดา สการะวาตีและนางมาหยารัศมี
นางวันทอง


                นางวันทองเป็นบุตรสาวของพันศรโยธา และนางศรีประจัน ครอบครัวของนางวันทองเป็นตระกูลพ่อค้าที่มีฐานะดีพอสมควร นางจึงได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี
                นางเป็นคนสวยรูปร่างอรชนอ้อนแอ้น กิริยามารยาทแช่มช้อย ซึ่งความสวยของนางนั้นปรากฏให้เห็นชัดตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และยังมีผมสวย ดังที่กวีพรรณนาไว้ว่า
                                "ทรวดทรงส่งศรีไม่มีแบน อรชรอ้อนแอ้นประหนึ่งเหลา
                                ผมสลวยสวยขำงามเงา ให้ชื่อเจ้าว่าพิมพิลาไลย"
                นางไม่ค่อยฉลาดเท่าใดนัก ทำอะไรก็ทำตามประสาหญิงชาวบ้าน เมื่อโตเป็นสาวก็เริ่มคิดเรื่องคู่ครอง จึงทำให้ดูเหมือนว่านางวันทองไม่รักนวลสงวนตัว
                นางวันทองก็ยังมีภาพลักษณ์ด้านดีที่เห็นได้ชัด คือ ความละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการรับรู้ถึงความดีของผู้อื่นที่ปฏิบัติต่อนาง ดังจะเห็นได้จากถึงแม้นางจะไม่ได้รักขุนช้างแต่ด้วยความดีของขุนช้างและความผูกพันที่อยู่กันมา 15 ปี ทำให้นางเป็นห่วงเป็นใยความทุกข์สุข และความรู้สึกของขุนช้างไม่น้อย หรือ อารมณ์ที่ละเอียดอ่อนในการเป็นแม่ศรีเรือนที่ดี เป็นคนกล้าที่จะยอมรับชะตากรรมของตัวเอง มีน้ำใจเมตตา และให้อภัยโดยไม่เคียดแค้น
                ในที่สุดพระพันวษาต้องให้นางเลือกว่าจะอยู่กับใครระหว่างขุนแผนหรือขุนช้าง แต่นางวันทองก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ เพราะแม้ขุนแผนจะเจ้าชู้จนมีเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้งหึงหวงกันอยู่เสมอ แต่ก็เป็นรักแรกและยังมีลูกด้วยกันคือพลายงามอีกด้วย
ขุนช้างแม้จะขี้เหร่ แต่ก็มีรักจริงและรักเดียว แถมดูแลนางอย่างดีเพราะมีเงินทองร่ำรวย การที่นางไม่สามารถตัดสินใจได้เด็ดขาดนี่เอง จึงทำให้ถูกพระพันวษาสั่งประหารชีวิตด้วยความกริ้ว และเป็นเหตุให้ถูกประณามว่า เป็นวันทองสองใจบ้าง นางวันทองสองผัวบ้าง ทั้งๆที่ชีวิตนางวันทองน่าเห็นใจไม่น้อย เพราะถูกสองหนุ่มยื้อกันไปยื้อกันมา แม้ไม่เต็มใจ แต่ก็อยู่ในภาวะจำยอมเพราะช่วยตัวเองไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น