บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภาษานี้มีเรื่องสนุก

ภาษาพาสนุก



วิชาภาษาไทย  ที่ใครๆ มองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ  เพราะมีหลายเรื่องที่เรารู้สึกว่า  ทำไม่ได้ ไม่เข้าใจสักที  แต่มีคุณครูท่านหนึ่งซึ่งกำลังมีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของการสอนภาษาไทยได้สนุกและมีเทคนิคการจำแพรวพราว  หากบอกชื่อจริงว่าคือ  อาจารย์กิจมาโนชญ์   โรจนทรัพย์ ส่วนใหญ่อาจจะยังทำหน้าสงสัย  แต่ถ้าบอกชื่อเสียงเรียงนามที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าครูลิลลี่ หลายคนร้องอ๋อ..แล้วใช่ไหมคะ
ครั้งนี้ "คิดซี" มีโอกาสได้ไปเรียนภาษาไทยกับครูลิลลี่อยู่แป๊บนึง ก็เลยได้เทคนิคดีๆ มาฝากกันค่ะ

เริ่มแรกเลย ครูลิลลี่บอกว่า  เด็กไทยยังมีจุดอ่อนในการเรียนภาษาไทย  3  เรื่องหลัก ๆ
ด้วยกัน คือ
1. หลัก ไวยากรณ์  ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความประณีตละเอียดซับซ้อน  ตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุดคือตัวอักษร  ก็มีอักษรสูง  กลาง  ต่ำ  ขยับไปเรื่องของคำ  ก็ยังมีคำนาม  คำกริยา  คำวิเศษณ์  คำสันธาน  คำบุพบท  หรือจะแบ่งเป็นแบบคำมูล  คำประสม  คำซ้อน  คำซ้ำ  ก็ได้  พอไปถึงเรื่องประโยคชนิดต่างๆ  ก็มีทั้งความเดียว  ความรวม  ความซ้อนอีก  หลายๆ คนก็เลยบอกว่ามันเยอะแยะยุ่บยั่บจนจำไม่ไหว..ปวดหัว
2. การอ่านจับใจความ  ถ้าพูดถึงการอ่านหนังสือ  ทุกคนอ่านออก  แต่อ่านแล้วตีความได้ว่าเรื่องนั้นพูดถึงอะไร  อะไรก็คือประเด็นสำคัญ  ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์อย่างไร  หรือเขียนด้วยอารมณ์ความรู้สึกแบบไหน  หลายคนอึ้ง..ตอบไม่ได้
             3. การเขียน  หลายคนมีความคิดที่ดี  แต่เรียบเรียงออกมาถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจไม่ได้ สื่อสารผ่านตัวหนังสือไม่เป็น ไม่รู้จะเขียนอะไร ไม่รู้จะใช้สำนวนภาษาแบบไหน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเด็กไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกฝนให้เขียนบ่อยๆ  ในหนึ่งภาคการศึกษา  อาจจะได้ฝึกการเขียนเรียงความเฉพาะในวิชาภาษาไทยครั้งสองครั้ง  ในขณะที่ต่างประเทศเขาฝึกเขียนกันทุกรายวิชา  ทั้งภาษาอังกฤษ  วิทยาศาสตร์  สังคม  ทุกคนต้องฝึกทำรายงานและเขียนบรรยายกันทั้งนั้น  ทำให้เด็กไทยยังขาดทักษะเรื่องความคิดและจินตนาการ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเขียน  อ่านแล้วก็อย่าเพิ่งตกใจว่า   อุ๊ย!   ทำไมตรงกับเราจัง   จะทำยังไงดีเนี่ย ครูลิลลี่แนะวิธีแก้ไขให้ดังนี้   ไล่กันไปทีละเรื่อง
เรื่องแรกคือ ไวยากรณ์  กันก่อน  เพราะเป็นบันไดก้าวแรกที่จะไปต่อยอดความรู้ในเรื่องอื่นได้ เรื่องนี้ถ้ามีเทคนิคการจำก็จะไม่วุ่นวายอีกต่อไป  ซึ่งยกตัวอย่างมาให้   เช่น


1.  คำพ้อง
คำพ้องมี 3 แบบ คือพ้องรูป พ้องเสียง และพ้องทั้งรูป พ้องทั้งเสียง พ้องแปลว่า เหมือน ดังนั้น
                                  พ้องรูป ก็ต้องรูปเหมือน
                                  พ้องเสียง ก็ต้องเสียงเหมือน
                                  พ้องทั้งรูป พ้องทั้งเสียง ก็ต้องเหมือนทั้งรูปเหมือนทั้งเสียง
แต่ 3 ตัวนี้ ความหมายไม่เหมือน ถ้าความหมายเหมือนเหมือนกัน เรียกพ้องความหมาย
ท่อง ตามอย่างนี้  พ้องรูป-รูปเหมือน พ้องเสียง-เสียงเหมือน พ้องทั้งรูปพ้องทั้งเสียง-เหมือน    ทั้งรูป เหมือนทั้งเสียง แต่ความหมายไม่เหมือน   ดูตัวอย่างไปพร้อมๆ กัน
1.เพลารถ กับ เพลาเย็น เป็นคำพ้องประเภทไหน
               คำตอบคือ  พ้องรูป   เพราะเขียนเหมือนกัน แต่อ่านออกเสียงต่างกัน คำแรกอ่านว่า เพลารถ ส่วนคำหลังอ่านว่า เพ-ลาเย็น
            2.การ กานต์ กาญจน์ การณ์ กาฬ กาล เป็นคำพ้องประเภทไหน
               คำตอบคือ  เสียง  เพราะอ่านออกเสียงเหมือนกัน  แต่เขียนคนละอย่าง  ความหมายต่างกัน การคำแรกแปลว่า งานหรือเรื่องที่ทำ คำที่สองแปลว่า เป็นที่รัก คำที่สามแปลว่า ทอง คำที่สี่แปลว่า เหตุ เค้า มูล คำที่ห้าแปลว่า ดำ คำสุดท้ายแปลว่าเวลา
            3.ไก่ขัน กับ ขันน้ำ เป็น..
                คำตอบคือ  พ้องทั้ง รูป พ้องทั้งเสียง  เพราะคำนี้เขียนเหมือนกัน อ่านออกเสียงก็เหมือนกัน แต่ความหมายไม่เหมือนกัน ขัน คำแรกเป็นกริยา หมายถึงอาการร้องของไก่หรือนกบางชนิด ส่วนคำที่สองเป็นคำนาม หมายถึงภาชนะสำหรับตักหรือใส่น้ำ
ส่วนคำสุดท้าย คือคำพ้องความหมาย ก็เอาความหมายเป็นหลัก เช่น วารี นที คงคา สินธุ สายชล ความหมายทุกตัวหมายถึง สายน้ำ แม่น้ำ แต่เขียนไม่เหมือนกัน อ่านออกเสียงก็ไม่เหมือนกัน

2.  คำซ้อนกับคำประสม
      ดูตัวอย่างคำต่อไปนี้  แล้วตอบทีว่าคำไหนเป็นคำซ้อน  คำไหนเป็นคำประสม
1.บ้านพัก กับ บ้านเรือน
2.พ่อครัว กับ พ่อแม่
3.ควายเหล็ก กับ วัวควาย 

          ก่อนจะแยกแยะ เรามาดูกันก่อนว่า คำซ้อนคืออะไร และคำประสมคืออะไร                            
คำประสม  คือ  การเอาคำสองคำมารวมกัน เพื่อเรียกสิ่งใหม่ๆ แต่ถ้าเป็นคำซ้อนเราไม่ได้เรียกสิ่งใหม่  แต่เอาคำที่ใกล้เคียงกัน  หรือตรงข้ามกันมารวมกัน  เพื่อขยายความกัน ความหมายยังคงคล้ายของเดิม
ฉะนั้น  จะดูว่าคำไหนเป็นคำประสม  ให้ท่องว่า  คำ 2 คำที่นำมาประสมต้องไม่เหมือน ไม่คล้าย  และไม่ตรงข้าม  ส่วนคำซ้อนก็ต้องเหมือน ต้องคล้าย และต้องตรงข้าม 
            คำตอบ  ข้อ 1  บ้านเรือน บ้านก็คือบ้าน เรือนก็คือบ้าน ความหมายคล้ายกันนำมารวมกัน ไม่เกิดความหมายใหม่ ถือเป็นคำซ้อน   
            แต่บ้านพัก  เอาบ้านมารวมกับพัก  กลายเป็นบ้านพัก เช่น บ้านตากอากาศ  นานๆจะไปสักที  ถือเป็นคำประสม
            คำตอบ  ข้อ 2  พ่อแม่ คือไม่พ่อก็แม่  ความหมายยังคงเหมือนเดิม ถือเป็นคำซ้อน
แต่ถ้าเอาพ่อมารวมกับครัว  เกิดเป็นชื่ออาชีพใหม่คือพ่อครัว  เรียกว่าคำประสม
            คำตอบ  ข้อ 3  ควายเหล็ก เอาควายมารวมกับเหล็ก ไม่ใช่ควายที่ตัวเป็นเหล็ก  แต่เป็นคำเปรียบเทียบหมายถึงรถแทร็กเตอร์  เรียกว่า  คำประสม   
ส่วนถ้าเป็นวัวควาย ความหมายรวมๆ  หมายถึง สัตว์ใหญ่เอาไว้ไถนา  ก็เป็นคำซ้อน


3.  คำครุ  ลหุ
การเรียนวิชาภาษาไทย  เรื่องฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ประเภทคำฉันท์   ก็จะเจอกับครุ ลหุ ซึ่งก็คือพยางค์ที่มีเสียงหนักกับเสียงเบา  จะจำว่าอะไรเป็นอะไร  ก็ต้องสร้างเรื่องราวให้จำง่ายๆ  เช่น
ครุ  ขึ้นต้นด้วย  ค.ควาย   ส่วนลหุ  ขึ้นด้วย  ล.ลิง  ระหว่างควายกับลิง  ควายตัวหนักกว่าลิง  ครุจึงเป็นพยางค์ที่มีเสียงหนัก  ส่วนลหุก็เป็นพยางค์ที่มีเสียงเบา
            ในหนึ่งพยางค์ ถ้ามีตัวสะกด น้ำหนักก็น่าจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่มีตัวสะกด ก็ต้องดูที่สระ ระหว่างสระเสียงสั้นกับเสียงยาว  อะไรจะหนักกว่ากัน ลองคิดดู ระหว่างของสั้นกับของยาว ของยาวน่าจะหนักกว่า
สรุปว่า  ครุ   เสียงหนัก  (เพราะควายตัวหนักกว่าลิง)  เป็นพยางค์ที่มีตัวสะกด  (มีน้ำหนักมากกว่า)  หรือถ้าไม่มีตัวสะกดก็ต้องใช้สระเสียงยาว  (เพราะของยาวหนักกว่าของสั้น)
            ลหุ  เสียงเบา  ถ้าจะทำตัวให้เบาที่สุด  ก็ห้ามมีตัวสะกด  และใช้สระเสียงสั้น

วิธีเตรียมตัวสอบวิชาภาษาไทย
            หลายคนคงจะงง  ไม่รู้ว่าจะเริ่มอ่านจากตรงไหน  โดยเฉพาะเวลาต้องใช้ภาษาไทยในการสอบ  เพราะเนื้อหาเยอะแยะมากมายเหลือเกิน ซึ่งก็มีเทคนิคง่ายๆ มาแนะนำให้น้อง ๆ ลองทำดู  ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
            เริ่มอ่านจากหนังสือสรุปย่อ  เอาเฉพาะประเด็นสำคัญให้ทะลุปรุโปร่ง  อย่าเพิ่งเริ่มอ่านแบบเรียน  เพราะจะเยอะและยาก  จะพานหมดกำลังใจไปก่อน  พออ่านจบแล้วค่อยมาทำแบบฝึกหัด  ถ้าทำผิดหรือติดใจสงสัยข้อไหนเป็นพิเศษ  ค่อยกลับไปอ่านเรื่องนั้นๆ อย่างละเอียดในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ  เพราะแปลว่าเราอาจจะอ่อนในเรื่องนั้น
            เมื่อรู้ตัวเองว่า  อ่อนเรื่องไหน  ก็ให้ทำแบบฝึกหัดเรื่องนั้นเยอะๆ  ลองหาข้อสอบเก่า     มาทำ  การได้ลองผิดลองถูก  ฝึกแก้ปัญหา  จะทำให้เราเคยชินกับข้อสอบมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น